วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2552

เตือนภัย : ใส่คอนแทคระวังอันตราย


การใส่คอนแทคเลนส์ ทำให้การส่งผ่านออกซิเจนระหว่างอากาศกับกระจกตาดำลดลง (กระจกตาดำต้องการออกซิเจนจากหน้าสัมผัสกับอากาศภายนอกโดยการละลายของออกซิเจนในน้ำตาผ่านเข้าไป) ดังนั้น ผู้ใช้คอนแท็กเลนส์บางคนที่มีการสร้างน้ำตาบกพร่อง (ไม่ว่าจะเป็นในแง่ปริมาณ และ/หรือคุณภาพของน้ำตา) ทำให้การส่งผ่านออกซิเจน-น้ำตา-กระจกตาดำลดลง ซึ่งผลก็คือ กระจกตาดำขาดอากาศหายใจ ทำให้เซลล์เยื่อบุผิวกระจกตาดำซึ่งมีบทบาทในการทำให้กระจกตาดำคงความใสอยู่ได้ตลอดเวลา ลดจำนวนลงไป ภูมิคุ้มกันของตา โดยเฉพาะ บริเวณกระจกตาดำลดลงไป เสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายขึ้น
สำหรับอัตราของผู้ใช้คอนแทคเลนส์ โดยดูแลอย่างถูกต้อง (ไม่ใส่ค้างคืน ไม่ขี้เกียจล้าง) อยู่ที่ ๑:๒๐๐:๑ ปี (ใน ๑ ปี คนใช้คอนแท็กเลนส์ อย่างถูกวิธี ๒๐๐ คน จะมี ๑ คน ที่เกิดการติดเชื้อทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง)
การใส่คอนแทคเลนส์เมื่อมีการติดเชื้ออย่างอ่อนๆ อาจมีอาการเพียงการคัน ระคายเคือง หรือมีน้ำตาไหลเท่านั้น ทำให้ร่างกายพยายามเอาระบบภูมิคุ้มกันมายังกระจกตาดำ (ซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงโดยสิ้นเชิง) มากขึ้น หลอดเลือดที่เยื่อบุตาขาวจะขยายตัว ในผู้ที่เกิดการระคายเคืองการแพ้สารที่อยู่ในน้ำยาสารพัดอย่าง มีการขยายตัวของหลอดเลือดนี้ได้บ้างเหมือนกัน บางรายหลอดเลือดถึงกับงอกไปบนกระจกตาดำเลยทีเดียว ในบางประเทศ ทุกคนที่ใส่คอนแทคเลนส์ต้องได้รับการตรวจพื้นฐาน ได้แก่ ความโค้งของกระจกตา (คอนแท็กเลนส์มีหลายความโค้ง การเลือกความโค้งให้เหมาะกับตาแต่ละคนก็เป็นเรื่องสำคัญ) ตรวจคุณภาพน้ำตา และโรคตาที่อาจยังไม่แสดงอาการก่อนที่จะเริ่มใส่คอนแทคเลนส์ และในบางคนอาจได้รับคำแนะนำให้เลือกใช้วิธีแก้ไขสายตาอย่างอื่นแทน ทั้งที่ดูๆ เขาก็เป็นคนปกติ ไม่เคยมีปัญหาเรื่องตามาก่อน แต่พอหันกลับมาดูที่ประเทศไทย คอนแทคเลนส์นั้นหาซื้อได้ง่ายถึงขั้นที่ว่าขายกันอยู่ตีนบันไดทางขึ้น – ลง รถไฟฟ้า วัยรุ่นก็ให้ความนิยมหาซื้อกันมาใส่ ถูกผิดก็ลองๆ กันไป...มีปัญหาค่อยหาหมออีกทีของแบบนี้ไม่ดีเลยนะค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2552

5 เรื่องน่ารู้ของไข่ไก่


1. ทำไมไข่ทุกฟองไม่ฟักเป็นตัว
ไข่ที่ผลิตแต่ละฟองจะถูกปล่อยออกมาตามท่อรังไข่อย่างสม่ำเสมอ และแม่ไก่ก็พร้อมจะวางไข่กระบวนการนี้จะดำเนินไปตลอด ไม่ว่าไข่จะมีการปฏิสนธิหรือไม่ก็ตาม นั่นคือเหตุผลที่ไข่ไก่ทุกฟองไม่ฟักเป็นตัว

2. ไข่สุก-ไข่ดิบ อะไรมีประโยชน์กว่ากัน

เราไม่ควรกินไข่ดิบ เพราะในไข่ดิบอาจจะมีเชื้อโรค และไข่ขาวดิบยังย่อยยากอีกด้วย หากเรากินไข่ขาวดิบเข้าไป มันจะผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้ไปโดยไม่ได้ย่อย ร่างกายก็ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่างๆ ได้ หากจะกินไข่ลวกควรลวกให้ไข่ขาวสุกเสียก่อน

3. ช่องวางไข่ในตู้เย็น ทำอายุไข่สั้น
เปลือกไข่มีลักษณะเป็นรูพรุนตลอดทั้งฟอง รูที่เปลือกมีขนาดเล็กมากเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผิวไข่ที่เราเห็นจึงดูเรียบเนียน และเพราะเปลือกมีรูพรุนทำให้ไข่สามารถดูดซึมกลิ่นต่างๆ ได้ง่าย จึงไม่นิยมเก็บไข่ไว้กับอาหารที่มีกลิ่นฉุน อย่างกะปิ น้ำปลา การเก็บไข่ควรเก็บไว้ในตู้เย็นจะเหมาะกว่าเก็บที่อุณหภูมิปกติ และควรใส่ในภาชนะแล้ววางไว้บนชั้นวางธรรมดาดีกว่าใส่ในช่องวางไข่ที่ฝาผนังตู้เย็นซึ่งจะมีอุณหภูมิที่สูงทำให้ไข่เสียเร็วกว่าที่ควร

4. เก็บไข่ควรนำด้านแหลมลง
การวางไข่โดยเอาด้านแหลมลงและให้ด้านป้านอยู่บน ไข่แดงที่มีน้ำหนักเบากว่าไข่ขาว แม้จะพยายามลอยตัวขึ้นบนแต่ก็จะปะทะกับโพรงอากาศที่อยู่ทางด้านป้านไม่ปะทะกับเปลือกไข่ ไข่แดงจึงอยู่กลางใบหากเราเปลี่ยนเอาทางด้านป้านลงไข่แดงจะลอยขึ้นไปติดที่เปลือกไข่ทำให้ไข่แดงแตกง่ายเวลาตอก การเก็บไข่จึงควรนำด้านแหลมลงทุกครั้ง

5. ไข่ไม่ได้เป็นแค่อาหาร
ไข่ขาว นำมาทำเป็นส่วนประกอบของยางบางชนิด ทำสีทาสิ่งของ ทำกาว ทำหมึกพิมพ์ ช่วยย้อมหนัง กำจัดสิวเสี้ยนไข่แดง ทำสบู่ สี แชมพู ตกแต่งหนังสัตว์ บำรุงผิวเปลือกไข่ ทำอาหารสัตว์ ปุ๋ย และนำไปทำสิ่งประดิษฐ์ได้อีกหลายสิบอย่าง
การไม่ทานไข่ อาจส่งผลเสียต่อเส้นประสาทสมองได้ ไข่ฟองเล็กๆ หนึ่งฟอง มีปริมาณวิตามินบี 12ซึ่งจําเป็นต่อการสร้างเยื่อหุ้มป้องกันเส้นใยประสาท นอกจากนี้ไข่ยังดีต่อสายตาคุณ โดยเมื่อไม่นานมานี้มีผลการศึกษาจากอเมริกาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Nutrition ได้ค้นพบว่า การทานไข่อย่างน้อย 3 ฟองต่อสัปดาห์จะช่วยป้องกันภาวะสูญเสียสายตาที่มักเกิดขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นได้ เพราะสารลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งเป็นสารรงควัตถุในตระกูลแคโรทีนอยด์ในไข่แดงจะช่วยบํารุงจอประสาทตานั่นเอง
"ไข่เจียว" ถือเป็นยาบํารุงร่างกายได้เลย เพราะนอก จากไข่จะช่วยให้ร่างกายคุณดูดซึมแคลเซียมได้ดีแล้ว ยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน แถมปริมาณ สารซีลีเนียมและวิตามินอีในไข่ยังช่วยป้องกันโรคหัวใจ ทั้งยังช่วยป้องกันไม่ให้คุณมีหุ่นกลมเป็นไข่อีกด้วย
ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยหลุยส์เซียนาสเตท พบว่า คนที่ทานมื้อเช้าโดยมีไข่เป็นส่วนประกอบ จะลดน้ำหนักได้มากกว่าคนที่ไม่ทานไข่ในมื้อเช้าได้ถึง65 เปอร์เซ็นต์ เมื่อบริโภคแคลอรี่ในปริมาณที่เท่ากัน
ตามรายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrution ไข่ที่ให้ผลดีต่อร่างกาย อาจส่งผลร้าย ได้เหมือนกัน ถ้าคุณทานมากกว่า 1 ฟองต่อวัน ติดกันทุกวัน แต่ขณะที่การทานไข่สูงสุด 6 ฟองต่อสัปดาห์ไม่ได้ ทําให้มีอันตรายถึงชีวิต
ในทางตรงกันข้ามการทานไข่ 7 ฟองหรือมากกว่านั้นภายใน 1 สัปดาห์ จะไปเพิ่มปัจจัย เสี่ยงที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ 23 เปอร์เซ็นต์