วันจันทร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2554

คนกินหวาน ระวังสมองเฉื่อย ความต้านทานต่ำ


คงเป็นข่าวร้ายพอสมควร สำหรับบรรดา "ชมรมคนรักความหวาน" ที่ชื่นชอบ "น้ำตาล" เป็นชีวิตจิตใจ เพราะผลวิจัยทางการแพทย์สรุปออกมาแล้วว่า มีภัยอันตรายที่แฝงเร้นอยู่ภายใต้ความหวานนั้นมากมายทีเดียว

แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ เมื่อได้ตรวจสอบข้อมูลไปยังกระทรวงสาธารณสุขที่เฝ้าติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลของคนไทยทำให้พบว่า ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มเฉลี่ยจากคนละ 12 กิโลกรัมต่อปีในปี พ.ศ.2526 กลายเป็นคนละ 29 กิโลกรัมต่อปีในปี พ.ศ.2545 เรียกว่า เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 2 เท่าตัว

ซ้ำร้ายดัชนีที่เกิดขึ้นยังเป็นแนวโน้มเดียวกันกับการบริโภคน้ำตาลในรูปแบบขนม ลูกอมและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ซึ่งปรากฏชัดเจนกับเด็กรุ่นใหม่ที่กระแสบริโภคถูกกระตุ้นโดยการโฆษณา

"จากข้อมูลทางโภชนาการและสุขภาพ เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินควร นอกจากนำมาซึ่งปัญหาโรคอ้วนและโรคฟันผุแล้วการรับประทานน้ำตาลมากๆ มีอันตรายต่อสุขภาพหลายประการโดยน้ำตาลซูโครสหรือฟรุกโตส จะทำให้ระดับไขมัน กลูโคส อินซูลินและกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคเบาหวาน

"ผู้ที่ชอบกินหวานจัดบ่อยๆ จะทำให้ระบบความสมดุลของแร่ธาตุในร่างกายเสียไป ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันโรคในร่างกายลดต่ำลง ผลที่ตามมาก็คือทำให้ติดเชื้อง่าย นอกจากนี้ การเผาผลาญน้ำตาลในร่างกายบ่อยๆ ยังเป็นตัวเร่งให้เกิดอนุมูลอิสระ เมื่อบริโภคเป็นเวลานานจะก่อให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง อีกทั้งการรับประทานน้ำตาลซูโครสมาก ทำให้กรดอะมิโนที่มีชื่อว่า ทริปโตฟาน ถูกเร่งเข้าสู่สมองมากเกินไป ทำให้เสียสมดุลของฮอร์โมนในสมอง ผลที่ตามมาก็คือทำให้เกิดอาการเซื่องซึม เหนื่อย ไม่กระฉับกระเฉง ซึ่งหากเป็นในเด็กจะทำให้เรียนไม่รู้เรื่องและหากเป็นวัยทำงานก็จะทำงานไม่มีประสิทธิภาพ" นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลถึงอันตรายจากการบริโภคน้ำตาล เมื่อติดตามพิษร้ายที่เกิดจากความหวานต่อไป ก็ทำให้ได้ข้อมูลอีกด้วยว่า การรับประทานอาหารรสหวานมากไป จะทำให้เด็กอิ่มและตัดโอกาสที่เด็กจะได้รับสารอาหารอื่นๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย

ผลการศึกษาในปี พ.ศ.2546 พบว่าเด็กกลุ่มอายุ 6-15 ปี ได้รับอาหารที่ให้พลังงานมากถึง 23 % สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 10 % กว่าเท่าตัว ตรงนี้บ่งชี้ว่า สถานการณ์การกินหวานในเด็กไทย อยู่ในขั้นที่ควรร่วมกันแก้ไขโดยด่วน

"ในความเป็นจริงนั้น การติดหวานสามารถถูกสร้างขึ้นตั้งแต่วัยเริ่มต้นของชีวิต โดยพ่อแม่และผู้ใหญ่เป็นกลุ่มแรกที่สร้างภาวะให้เด็กติดหวาน เนื่องจากบริโภคนิสัยของเด็กจะถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงขวบปีแรก เริ่มจากนมและอาหารเสริมที่ป้อนให้ เมื่อเด็กโตขึ้นเด็กจะติดอาหารหวานและจะเพิ่มปริมาณความหวานมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากคนที่เคยชินรสหวาน เมื่อได้รสหวานสมองจะหลั่งสารชนิดหนึ่งเรียกว่าโอปิออยด์( Opioid) ออกมาทำให้เกิดความพอใจ และอยากกินหวาน ทำให้อ้วนได้เร็ว

"ดังนั้น นี้ กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนในเรื่องนี้อย่างจริงจังโดยเริ่มจากส่งเสริมให้เด็กกินนมแม่แทนนมขวด พร้อมทั้งจะมีการประกวดโรงพยาบาลปลอดนมขวดทั่วประเทศ ส่งเสริมให้เด็กกินนมรสจืด แทนนมรสหวานหรือนมปรุงรส ส่งเสริมให้เด็กกินผลไม้ที่รสไม่หวานแทนการกินขนมหวาน และรณรงค์ให้งดการเติมน้ำตาลในก๋วยเตี๋ยว อีกทั้งให้งดการดื่มน้ำอัดลมและอมท๊อฟฟี่ด้วย" ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสรุปแผนการรณรงค์เพื่อให้เด็กไทยรอดพ้นจากการบริโภคความหวานมากเกินไปทิ้งท้าย