วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553
23 กันยา วันลาโลกของ "ซิกมุนด์ ฟรอยด์" บิดาแห่งจิตวิเคราะห์
(23 ก.ย.) เมื่อ 65 ปีที่แล้ว (ปี 1939) เป็นวันสุดท้ายที่ ซิกมุนด์ (ซิกมันด์) ฟรอยด์ นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย บิดาแห่งศาสตร์ที่ว่าด้วยจิตวิทยาของโลกได้มีลมหายใจอยู่บนโลก
ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิทยาชาวออสเตรียเชื้อสายยิวเกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 1856 ในจักรวรรดิออสเตรียซึ่งปัจจุบันคือเมืองไฟรเบิร์ก รัฐโมราเวีย สาธารณรัฐเช็ก ชื่อเดิมของเขาเมื่อแรกเกิดคือ ซิกิสมุนด์ ชโลโม ฟรอยด์ ก่อนที่จะตัดให้สั้นลงเหลือแค่ซิกมุนด์ ฟรอยด์ในปี 1877
ครอบครัวของฟรอยด์มีอาชีพขายขนสัตว์ มีฐานะปานกลาง เมื่ออายุได้ 4 ขวบจึงย้ายจากเมืองไฟรเบิร์กไปอยู่ที่กรุงเวียนนา และแต่งงานกับมาร์ธา เบอร์เน มีลูกด้วยกันถึง 6 คน จนถึงปี 1938 กองทัพนาซีของเยอรมันบุกเข้ายึดครองออสเตรีย ทำให้เขาต้องหลบหนีไปอยู่ที่อังกฤษ และ 1 ปีหลังจากนั้นเขาก็ถึงแก่กรรมในวันที่ 23 กันยายน 1939 ด้วยอายุ 83 ปี
ฟรอยด์สนใจด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเวียนนาสาขาวิทยาศาสตร์ในปี 1873 แต่เนื่องจากสาขานี้มีรายได้น้อยไม่พอหาเลี้ยงครอบครัว เขาจึงตัดสินใจเรียนต่อในสาขาแพทยศาสตร์ หลังจากเรียนจบเขาได้ไปศึกษาต่อด้านโรคทางสมองและประสาทที่กรุงปารีสกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านอัมพาต ที่นั่นฟรอยด์ได้ค้นพบว่าความจริงแล้วคนไข้บางรายป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะทางจิตใจไม่ใช่ร่างกาย
หลังจากกลับมาอยู่ที่กรุงเวียนนา ฟรอยด์จึงตัดสินใจเดินบนถนนของจิตแพทย์ และใช้วิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) กับคนไข้ที่เป็นอัมพาต กล่าวคือให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัวและพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อลดความขัดแย้งในใจ ปรากฏว่ามีผู้ป่วยหลายรายหายจากอัมพาต
นอกจากนี้เขายังได้เขียนตำราเกี่ยวกับทฤษฎีที่เขาค้นพบไว้หลายเล่ม ซึ่งเรื่องที่มีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันนี้ก็เช่น The Interpretation of dream (1900), New Introductory Lectures on Psychoanalysis (1933) เป็นต้น ทั้งนี้เขายังมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากอีกด้วย
ฟรอยด์ถือเป็นทั้งแพทย์และนักจิตวิทยาที่บุกเบิกการศึกษาทางด้านจิตวิทยา ทฤษฎีต่างๆ ที่เขาค้นพบยังคงนำมาใช้รักษาโรคทางจิตอยู่จนถึงปัจจุบัน หนึ่งในแนวคิดที่โด่งดังที่สุดของเขาก็คือ ความเชื่อที่ว่าพลังจิตใต้สำนึกมีผลต่อพฤติกรรมของแต่ละบุคคลและจำแนกบุคคลให้มีลักษณะแตกต่างกัน
เขาอธิบายว่าจิตใต้สำนึกของคนเราแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ อิด(Id), อีโก้(Ego) และ ซูเปอร์อีโก้(Superego) โดย อิดจะเป็นพลังอารมณ์ความรู้สึกที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เช่น รัก โลภ โกรธ หลง หรือเรียกว่าเป็นสัญชาตญาณดิบของคนเรานั่นเอง ซึ่งหากคนเรามีอิด เพียงอย่างเดียวก็จะไม่ต่างอะไรกับสัตว์ที่ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจตัวเองได้
ในขณะที่ ซูเปอร์อีโก้จะเป็นพลังงานที่เกิดจากการเรียนรู้ค่านิยมต่างๆ เช่น ความดี ความชั่ว มโนธรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นพลังในส่วนดีของจิตมนุษย์ที่จะคอยหักล้างกับพลังอิด
ทั้งนี้ในระหว่างความสุดขั้วของอิด และซูเปอร์อีโก้นั้นจะมี อีโก้อยู่ระหว่างกลางคอยทำหน้าที่ควบคุมไม่ให้คนเราแสดงสัญชาตญาณดิบออกมามากเกินไป แต่ก็ไม่ถึงขั้นทำให้คนเราแสดงออกซึ่งมโนธรรมเพียงอย่างเดียวเฉกเช่นซูเปอร์อีโก้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น