วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553
ปลาสปิรันย่า
ปลาปิรันย่า มักได้เป็นตัวเอกในภาพยนตร์ระดับโลกอยู่เป็นระยะ ๆ และโดยมากก็มักจะได้รับความนิยมชมชอบจากคอหนังเสียด้วย เนื่องจากเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ ปลาปิรันย่า มักจะสนุกตื่นเต้น ลุ้นระทึก และไฮไลท์สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ "ความสยองขวัญ" !!!
นั่นเพราะ ปลาปิรันย่า ขึ้นชื่อว่าเป็น ปลาอันตรายชนิดหนึ่งของโลก การอยู่รวมกันเป็นฝูง และมุ่งโจมตีอย่างรวดเร็วด้วยฟันอันแหลมคมของมัน ถือเป็นวิธีสังหารเหยื่ออย่างราบคาบภายในเสี้ยววินาที
ปลาปิรันย่า (Piranha) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Serrasalmus spp เป็นปลาน้ำจืดกลุ่มหนึ่ง จัดอยู่ในสกุล เซอร์ราซัลมัส (Serrasaimas) สกุลรูสเวลทิเอลลา และสกุล ไพโกเซนทรัส ซึ่งปลาในกลุ่มนี้มีทั้งหมด 25 ชนิด แต่มีเพียง 4 ชนิดเท่านั้นที่เป็นอันตรายต่อคนและสัตว์ เนื่องจาก ปลาปิรันย่า กินเนื้อเป็นอาหาร โดยมักอาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำแถบอเมริกาใต้และแอฟริกา พบมากในแม่น้ำอเมซอน อันเป็นถิ่นกำเนิด
ลักษณะทั่วไปของ ปลาปิรันย่า ลำตัวจะแบนข้าง ท้องกว้าง คล้ายปลาโคกของไทย แต่ละชนิดจะมีจุดสีตามลำตัวแตกต่างกันออกไป เกล็ดบริเวณสันท้องจะเป็นหนามคล้ายฟันเลื่อยจำนวน 24-31 อัน มีอาวุธสำคัญ คือ "ฟัน" ที่มีแถวเดียวเป็นรูปสามเหลี่ยมและแหลมคมมาก สามารถกัดเนื้อให้ขาดได้อย่างง่ายดาย ริมฝีปากล่างยื่นออกมายาวมากกว่าริมฝีปากบน แต่เมื่อหุบปากจะปิดสนิทระหว่างกันพอดี ในยามที่ ปลาปิรันย่า เริ่มออกอาการหิว หากไม่มีสัตว์อะไรตกลงไปในบริเวณที่อยู่ของมันเลย ปลาปิรันย่า ก็จะกินปลาอื่นในแม่น้ำเป็นอาหาร โดยใช้วิธีล่าเหยื่อด้วยการพุ่งเข้าโจมตีอย่างรวดเร็ว แล้วใช้ฟันที่แหลมคมรุมกัดแทะเหยื่อจนแทบไม่เหลือซาก จนถูกขนานนามว่า "เพชฌฆาตแห่งลุ่มน้ำจืด"
อย่างไรก็ตาม แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น ปลาโหด แต่ ปลาปิรันย่า ก็เป็นปลาที่ขี้ตกใจ จึงต้องอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่เพื่อที่จะโจมตีเหยื่อ และบ่อยครั้งที่มันตกเป็นเหยื่อของสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า อย่างเช่น ปลาช่อนยักษ์อเมซอน หรือปลาอะราไพม่า, นากยักษ์ (Pteronura brasiliensis) , โลมาแม่น้ำอเมซอน (Inia geoffrensis) และนกกินปลาอีกหลายชนิด รวมถึงคนพื้นเมืองที่นิยมกิน ปลาปิรันย่า เป็นอาหารด้วย
สำหรับ ปลาปิรันย่า ชนิดที่ขึ้นชื่อว่าดุร้ายที่สุด คือ ปลาปิรันย่าแดง หรือปิรันย่าท้องแดง (Pygocentrus nattereri) เกล็ดมีขนาดเล็ก สีแดงอมชมพูแวววาวดูเหมือนกากเพชร ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 33 เซนติเมตร น้ำหนักราว 3.5 กิโลกรัม แถมยังสุดอึด สามารถมีชีวิตอยู่บนบกที่ไม่มีน้ำได้นานถึง 2 ชั่วโมง
อย่างไรก็ดี ปลาปิรันย่า มีลักษณะคล้ายคลึงกับปลาเปคู (Pacu) หรือ ปลาคู้ ปลาชนิดนี้ไม่มีความดุร้ายเท่าและสามารถกินได้ทั้งพืชและสัตว์ ซึ่งในประเทศไทยถือเป็นปลาเศรษฐกิจและปลาสวยงาม
และด้วยลวดลายสวยงามของ ปลาปิรันย่า ทำให้บางประเทศอนุญาตให้เลี้ยงปลาชนิดนี้ เป็นปลาสวยงามได้ แต่สำหรับประเทศไทย ถือเป็นสัตว์ต้องห้าม คือห้ามนำเข้า หรือมีไว้ในครอบครอง และห้ามนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำ โดยผู้ฝ่าฝืนมีความผิดตาม พ.ร.บ.การประมง ต้องระวางโทษปรับ ไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท หรือ จำคุกไม่เกิน 6 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ สาเหตุที่ ปลาปิรันย่า เป็นปลาต้องห้าม เนื่องมาจาก ปลาชนิดนี้สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในพื้นที่เขตร้อนชื้นอย่างประเทศไทย หากหลุดรอดลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างมาก ต่อสัตว์น้ำพื้นเมือง และยังเป็นการคุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสุขอนามัย ที่สำคัญ ยังเป็นอันตรายต่อประชาชนที่ลงไปใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำอีกด้วย
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น